วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตลาดน้ำบางพลี ตอนที่ 2


















ตลาดบางพลี ถ้าจำไม่ผิดมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการมาได้ประมาณ 4 ปี  จากวันนั้นถึงวันนี้  ถือว่ามีคนมาเที่ยวกันน้อยกว่าที่คาด  เมื่อวันเสาร์ในเดือนมิถนายน 2553 ที่ผ่านมาก็มีโอกาสไปเที่ยวตลาดบางพลีอีกครั้งหนึ่ง  เห็นผู้คนแล้วต้องบอกว่ายังไม่มากนัก

ถามแม่ค้าแถวนั้นว่าทำไมจึงดูไม่ค่อยมีคนทั้งๆที่เป็นวันหยุด ได้คำตอบว่าวันนี้เป็นวันเสาร์ โรงงานแถวนี้ยังไม่หยุดทำงาน ต้องเป็นวันอาทิตย์คนจะมากันมาก เพราะเทพารักษ์แถวนี้จะเป็นย่านโรงงาน วันหยุดซึ่งมีเพียงวันเดียว พนักงานตามโรงงานก็มักมาเที่ยวที่นี่กัน

ตลาดน้ำบางพลีเห็นทีจะพึ่งสาวโรงงานเป็นแน่แท้  ส่วนนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆหรือจากกรุงเทพฯคงจะไม่ค่อยให้ความสนใจกันมากนัก  ทั้งที่ชื่อตลาดบางพลีก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากันน้อย  หากจะเปรียบเทียบกับตลาดน้ำในที่อื่นๆ  ก็พอสรุปได้ว่า ตลาดบางพลีหาของกินได้น้อยมาก  วันเสาร์คิดว่าน่าจะคึกคักแต่กลับโหรงเหรง  ตอนเที่ยงหรือช่วงบ่ายๆตามร้านอาหารก็เห็นผู้คนบางตา  บางร้านมองเข้าไปเห็นโต๊ะเก้าอี้ว่างทั้งร้าน

เรื่องอาหารการกินทีแรกก็ไม่ได้คิด   เพราะตนเองก็ไม่ค่อยได้คำนึงถึงเรื่องนี้มากนัก  สนใจแต่จะ่ถ่ายภาพมากกว่าเรื่องอื่น  แต่วันนั้นได้พาคนรู้จักจากต่างจังหวัดมาเที่ยว มาถึงตลาดบางพลีก็แยกย้ายกันเดิน คิดว่าเดี๋ยวก็เจอกันทางข้างหน้าโน้น เพราะคนไม่มากนัก

ก็ปรากฏว่าหลังแยกกันได้ไม่นานก็เห็นพวกเค้าเดินย้อนกลับออกมา  บอกว่าเดินไปจนสุดทางแล้วไม่ค่อยมีของกินมากนัก  ไม่เหมือนตลาดดอนหวาย ว่าแล้วพวกเค้าก็เดินเข้าห้างบิ๊กซีที่ห่างกันแค่ข้ามคลอง

คำพูดที่ว่าไม่ค่อยมีของกิน นี้ทำให้นึกถึงตลาดดอนหวาย ซึ่งไม่นานนี้ก็เคยพาพวกเค้าไปเที่ยวกัน  ก็ตื่นเต้นกันใหญ่ที่เห็นมีร้านขายมากมาย

เมื่อมากรุงเทพอีกครั้ง ก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศไปตลาดบางพลีกันบ้าง  เพราะเห็นชอบสไตล์ไทยๆพื้นบ้าน พร้อมบอกกันแต่แรกว่า  บรรยากาศคล้ายกับดอนหวาย เพียงแต่ว่าที่ตลาดบางพลีจะเล็กกว่า และมีคนน้อยกว่าตลาดดอนหวายเท่านั้นเอง

สรุปว่าเรื่องกิน  น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะคนที่ชอบเสาะหาของอร่อยๆ  ซึ่งปกติคนไทยก็พร้อมจะอุดหนุนกันอยู่แล้ว หากถูกใจ 

ตลาดน้ำบางพลีแตกต่างจากตลาดน้ำในที่อื่น ที่นี่เป็นชุมชนที่ยังคงสภาพดั่งเดิมมานานนับร้อยๆปี  ใครมาเที่ยวก็จะเห็นว่าทุกอย่างมีสภาพเหมือนอดีต ไม่ได้มีการจัดฉากหรือทำอะไรใหม่  ร้านรวงต่างๆก็ขายของกันอย่างที่เคยขายกันเมื่อหลายสิบปีก่อน ลูกค้าก็เป็นชาวบ้านร้านถิ่นแถวๆนี้  ของทุกอย่างที่เห็นในร้านก็ยังขายได้ตามปกติ  ถ้วยโถโอชาม  เครื่องจักสาน  หรือเครื่องมือทำกินแบบพื้นบ้าน  ยังมีชาวบ้านมาอุดหนุนเหมือนเมื่อก่อนๆ

ของบางอย่างหากเห็นในที่อื่นๆก็อาจเป็นของแปลก  หรือเก็บเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์กันหมดแล้ว  เช่นที่ขูดมะพร้าวแบบนั่งขูดจากลูกมะพร้าวที่ผ่าซีก  สบู่กรดหรือสบู่ซักผ้าที่ใช้กับเสื้อผ้าประเภทสกปรกมาก  ที่อื่นคิดว่าคงไม่มีขายแล้ว  แต่ตลาดบางพลียังเห็นวางขายกันอยู่หลายร้าน

ร้านชำก็่ขายของกันสารพัด ของใช้ต่างๆที่เคยเห็นตอนเด็กๆ และคิดว่าปัจจุบันน่าจะหมดไปแล้ว  แต่ที่นี่ยังขายกันอยู่ไม่ต่างกับเมื่อหลายสิบปีก่อน  ในร้านขายยาโบราณก็ยังเห็นยายี่ห้อเก่าแก่สมัยคุณย่าคุณยาย ตู้เก็บยาแบบเก่า กล่องโลหะบรรจุสมุนไพรไทยแบบโบราณก็ยังใช้งานตามปกติ

ถามคนขายก็บอกว่า ตัวยาบางอย่างก็ยังขายอยู่ นึกไม่ถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่เห็นนี้ ยังมีใช้มีขายกันเหมือนในอดีต หากไปเดินอยู่ในประเทศอินเดีย คงถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคนอินเดียไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตไปตามกระแสของโลกมากนัก อดีตของอินเดียเมื่อ 100 ปี ปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นมากมาย

เดินเข้ามาในร้านค้าแถวนี้ก็ทำเอาเบลอๆ งงๆ เหมือนฝันว่าเราหลุดเข้ามาอยู่ในห้วงเวลาของอดีต ตลาดบางพลีจึงเป็นวิถีชีวิตของคนบางพลีที่แท้จริง  ที่อื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง  แต่ที่นี่ชาวบ้านชาวช่องเขายังซื้อหา  ทุกอย่างจึงต้องมีไว้ขาย

จุดเด่นของตลาดบางพลีคือเป็นการสืบทอดความเป็นอดีตที่ไม่มีการปรุงแต่ง  หรือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยหวังผลประโยชน์ทางการค้า เหมือนกับตลาดดอนหวายที่กำลังกลายเป็นธุรกิจเข้าไปทุกขณะ  ดีที่ว่าสิ่งดีๆที่เคยขึ้นชื่อเมื่ออดีตนั้นยังคงอยู่  เช่นร้านเป็ดนายหนับ ห่อหมกปลาช่อนรสชาติชาวบ้าน  ปลาตะเพียนต้มเค็ม ฯลฯ  ซึ่งรสชาติอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ยังรักษามาตรฐานดั่งเดิม   จึงเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนแวะเวียนกันมาเที่ยวอยู่เรื่อยๆ  และมากขึ้นตามลำดับจนเกิดปัญหาเรื่องที่จอดรถ  และความแออัดในตลาด โดยเฉพาะวันหยุด จะมีคนมากจนแทบไม่อยากเดิน

ตลาดบางพลี  หากจะปรับเปลี่ยนให้ถูกอกถูกใจคนไทยและนักท่องเที่ยว  ก็จำเป็นต้องเพิ่มของขายประเภทอาหารและของกินให้มากขึ้น  พยายามให้เป็นแหล่งของกินที่ขึ้นชื่อ เพราะไม่เช่นนั้นคนที่มาครั้งแรกก็อาจผิดหวังที่มีแต่อาหารตา แต่ไม่ค่อยมีอาหารปาก 

ส่วนตลาดโบราณ คนส่วนใหญ่มาเห็นครั้งเดียวก็อาจไม่อยากมาอีกเพราะเคยเห็นแล้ว ไม่ต่างกับมาดูพิพิธภัณฑ์ ผิดกับตลาดที่คึกคักไปด้วยของกินหรืออาหารปาก ผู้คนก็มักจะแวะกันมาอยู่เรื่อยๆโดยไม่รู้จักเบื่อ

มีญาติบางคนชอบไปตลาดดอนหวายกันมาก  บ้านก็อยู่ไกล  ที่ไปบ่อยก็เพราะเรื่องกินเท่านั้น

ตลาดน้ำที่กำลังแจ้งเกิด  หรือเกิดมาแล้วแต่ยังไม่ติดลมบน ก็แนะนำว่า  เรื่องอาหาร เรื่องของความอร่อย  ต้องมาพร้อมๆกับสถานที่  เพราะจะทำให้บอกกันแบบปากต่อปาก และจะเดินทางมาเที่ยวกันบ่อยครั้ง

ตลาดน้ำหรือตลาดโบราณทุกแห่งควรดูตลาดอนหวายให้เป็นโมเดลหรือเป็นต้นแบบในเรื่องของอาหาร   เพราะต้นกำเนิดของดอนหวายก็มาจากร้านเป็ดนายหนับที่ขึ้นชื่อ จนใครต่อใครก็อยากไปชิม แม้จะอยู่ไกล  ถึงปัจจุบันก็ยังมีชื่อชนิดที่ใครมาแล้วก็ต้องมานั่งที่ร้านนี้

วันนี้หากใครไปร้านนายหนับที่ดอนหวายก็อาจแปลกใจ  ดูไปดูมาก็คล้ายกับเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพราะขายดีมาก และร้านนี้ก็เป็นร้านแรกๆที่ทำให้ตลาดดอนหวายมีชื่อเสียงจนมาถึงทุกวันนี้

ถ้าอยากให้เอิกเกริกมากยิ่งขึ้น  หรือต่อยอดความดังของตลาดดอนหวาย  ก็อาจจัดวันตลาดดอนหวายขึ้นมาสักวัน เรียกว่า Donwai Day ก็เข้าท่า ในวันนั้นก็พร้อมใจกันลด 50 เปอร์เซ็นต์กันทั้งตลาด คิดว่าทุกร้านคงให้ความร่วมมือ ทีห้างสรรพสินค้าลดทั้งห้าง 30-50 เปอร์เซ็นต์ ก็เห็นกันบ่อยๆ   ตลาดดอนหวายจะทำบ้างก็ไม่เห็นจะน่าแปลกอะไรเลย

ตลาดบางพลี โชคดีที่อยู่ติดกับวัดบางพลีใหญ่(ใน) มีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านศรัทธานับถือ  ยิ่งตลาดบางพลีเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว  ก็ทำให้ผู้คนมาทำบุญที่วัดนี้กันมากขึ้น  ตลาดบางพลี และวัดบางพลีใหญ่  ดูเหมือนจะได้ประโยชน์ที่เกื้อกูลกัน  ใครตั้งใจมาตลาดบางพลีก็มีโอกาสไหว้หลวงพ่อโต  หรือใครตั้งใจมาทำบุญกับหลวงพ่อโต  ก็มีโอกาสมาเดินชมตลาดบางพลี

สองสามปีที่ผ่านมานับว่ามีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างศรัทธาหลวงพ่อโตกันอย่างล้นหลาม ชนิดผิดคาด  จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจขนาดกลางของทางวัดที่ทำเงินได้ไม่น้อย ใครไม่ได้มาวัดนี้เป็นเวลานาน มาครั้งนี้แล้วอาจแปลกใจ พื้นภายในวัดทำการปูกระเบื้องเป็นบริเวณกว้าง ได้ยินว่าห้องน้ำห้องท่าของวัดนี้ สุดเริดอลังการ ตอนเข้าไปในวัดไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน และไม่ได้ใช้บริการ แต่กลับมาบ้านแล้วจึงรู้ว่าวัดนี้เค้าดังในเรื่องห้องน้ำห้องส้วม

จากที่สังเกตในวันนั้นดูเหมือนว่าวัดนี้กำลังจะเดินตามวัดหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่กลายเป็นแหล่งการค้า หรือเป็นพุทธพาณิชย์ที่ทำเงินมหาศาล ปัจจุบันวัดหลวงพ่อโสธรน่าจะมีเงินฝากในบัญชีนับพันล้านบาท กระทั้งตัวกิเลสมันแพร่เชื้อไปทั่ววัดจนดูน่ากลัว  กลายเป็นสถานที่แสวงหาผลประโยชน์อันมหาศาล  แต่ละเดือนมีเงินจากการทำบุญเข้าบัญชีในวัดประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้น

ก่อนนั้นมีข่าวว่ากรรมการวัดมีปัญหาทุจริตเรื่องการสร้างวิหารองค์ใหญ่ที่มีมูลค่าราว 800 ล้านบาท  จนการก่อสร้างต้องหยุดชะงักไปหลายปี  ไม่นานพระในวัดก็ประท้วงเดินขบวน พร้อมชูป้าย ขับไล่เจ้าอาวาส  และไม่รับมติของเถรสมาคมที่มีประกาศแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ แทนองค์เก่าที่มรณะภาพ

วัดหลวงพ่อโสธรวัดใหญ่ วัดดัง  มีเรื่องมีราวกันแบบนี้นะครับท่าน และสาเหตุที่พระลูกวัดขับไล่ ไม่รับมติเถรสมาคม ก็เพราะว่า เจ้าอาวาสองค์นี้มีประวัติขาวสะอาดในเรื่องเงินๆทองๆ การได้รับแต่งตั้งก็เพราะต้องการให้มาปราบมาเฟียโดยเฉพาะ

ถามว่าทำไมวัดนี้จึงมีเรื่องผลประโยชน์ ขณะที่วัดอื่นๆ ไม่ค่อยจะมีปัญหาหรือมีน้อย คำตอบก็คือ เงิน เท่านั้น จากเงินมันก็ก่อให้เกิดกิเลส  ความเป็นวัด ความเป็นสถานที่เสริมสร้างปัญญาในทางพุทธศาสนาแก่ประชาชน  มันกลายเป็นแหล่งขายสินค้าทางความเชื่อ หรือสินค้าบุญ โดยมีตราหรือยี่ห้อของหลวงพ่อโสธรรับประกันคุณภาพ  (แต่ไม่ได้ผ่าน อย. และ มอก.)

วัดใหญ่บางพลี (ใน) อนาคตจะมีปัญหาเช่นเดียวกับวัดหลวงพ่อโสธรหรือไม่ 
คราวหน้าหรือตอนที่ 3 จะมาให้คำตอบ  แต่สิ่งที่พบเห็นก็ต้องบอกว่า  หลวงพ่อโตที่ชาวบ้านนับถือนั้น  ถูกทำลายความศักดิสิทธิ์ไปไม่ไช่น้อย  และไม่คิดว่าทางวัดจะทำกันได้ถึงเพียงนี้


ชาวพุทธแท้ พุทธเทียม ทั้งหลาย จงติดตาม....


โฟโต้ออนทัวร์
2 สิงหาคม 2553 

..........................................................................................................................................................................


ดูภาพตลาดบางพลีเมื่อปี 2549 



 แผนที่การเดินทางสู่ตลาดบางพลี่ (โดยละเอียด) ขนาด 1800-1800 Pixels คลิกที่ภาพ


            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น