วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ลพบุรี

ลพบุรีคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ผ่านความรุ่งเรืองมาแล้วหลายครั้ง เคยเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พรั่งพร้อมด้วยวิทยาการทันสมัย ถ้าจะบอกว่าลพบุรีรุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้นก็ไม่ผิดนัก

ปัจจุบันลพบุรียังคงมีเสน่ห์เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จังหวัดนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณสถานอันงดงาม ทรงคุณค่า เรื่องราวที่น่าสนใจ ธรรมชาติสวยงามแปลกตา ทุ่งทานตะวันอันยิ่งใหญ่ไม่มีใครเหมือน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ช่วยบอกเรื่องราวของความมีเสน่ห์ที่ทำให้ใครๆ อยากไปเยือนลพบุรี
จังหวัดลพบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 3,874,846 ล้านไร่ หรือ 6,641.859 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี โดยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับเนินเขาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ราบลุ่มประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ลพบุรีเป็นเมืองสำคัญเก่าแก่เมืองหนึ่งตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เคยอยู่ใต้อำนาจมอญและขอม จนกระทั่งในตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้

ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง กล่าวคือ พระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้พระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จมาครองเมืองลพบุรีเมื่อ พ.ศ. 1893 พระราเมศวรโปรดให้สร้างป้อม ขุดคู และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตใน พ.ศ. 1912 พระราเมศวรต้องถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระปิตุลาของพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์ พระนามว่าพระบรมราชาธิราชที่ 1 ส่วนพระราเมศวรยังคงครองเมืองลพบุรีสืบต่อไปจนถึง พ.ศ. 1931 เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง

หลังจากนั้นมาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้ทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม

ในการสร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่นั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง หลังจากนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่

สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อๆ มาก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก

จนกระทั่งถึงสมัยของรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2406 โปรดให้บูรณะเมืองลพบุรีทั้งหมด ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญอีกวาระหนึ่ง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่ให้เป็นเมืองทหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ แยกจากตัวเมืองเดิม มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่ง

จังหวัดลพบุรีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าวุ้ง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ อำเภอลำสนธิ และอำเภอหนองม่วง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น