วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สกลนคร


พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม
จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพุทธศาสน์ พระธาตุห้าแห่ง แหล่งอารยธรรมสามพันปี” เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่ตกทอดกันรุ่นสู่รุ่นมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยโบราณ ที่หล่อหลอมและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสานจนมีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งศาสนาและอารยธรรมอันน่าสนใจ

สกลนครยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ พืชพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด และแหล่งน้ำขนาดใหญ่น้อยหลายแห่ง ที่ทำให้จังหวัดสกลนครเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ
จังหวัดสกลนครมีเนื้อที่ประมาณ 9,605 ตารางกิโลเมตร หรือ 6 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มสลับพื้นที่ลอนลาด มีเทือกเขาภูพานอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด และมีหนองหารซึ่งเป็นหนองน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด มีน้ำตลอดปี

เมืองสกลนคร เดิมมีชื่อว่า “เมืองหนองหานหลวง” ตามชื่อของบึงน้ำที่เมืองตั้งอยู่ มีขุนขอมราชบุตร เจ้าเมืองอินทปัฐนครเดิม เป็นผู้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโคตบูร ต่อมาเมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง เมืองหนองหานหลวงตกไปอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อเมืองใหม่ว่า “เมืองเชียงใหม่หนองหาน” 

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เมืองเชียงใหม่หนองหานได้ตกมาอยู่ในความปกครองของอาณาจักรสยาม และเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสกลทวาปี” ใช้ระบอบการปกครองแบบหัวเมืองโบราณ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ทางส่วนกลางได้ส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2373 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจากเมืองสกลทวาปีเป็น “เมืองสกลนคร” และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดสกลนครได้รับการขนานนามว่าเป็น "แหล่งธรรมะแห่งอีสาน" เนื่องจากมีความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต เป็นถิ่นกำเนิดและพำนักของอริยสงฆ์ที่สำคัญและเป็นที่เคารพบูชาหลายท่าน เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

ปัจจุบันจังหวัดสกลนครแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอภูพาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น