วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มุกดาหาร


จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดชายแดนแห่งสำคัญ เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ซึ่งเปรียบเป็นประตูที่เปิดไปสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศเวียดนาม ที่นับวันจะทวีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากขึ้น

มุกดาหารโดดเด่นในด้านความหลากหลายของเชื้อชาติ เนื่องจากพลเมืองของจังหวัดประกอบด้วยชนพื้นเมืองต่างๆ หลากหลายเผ่า มุกดาหารจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันงดงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นมากมาย

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและในน้ำ จึงนับเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม
จังหวัดมุกดาหารมีเนื้อที่ประมาณ 4,340 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.7 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 52 ของประเทศ สภาพพื้นที่ทางทิศเหนือและทิศใต้เป็นที่ราบสูง ทางทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาภูพานมีป่าไม้หนาแน่น ส่วนทิศตะวันออกเป็นที่ราบสลับป่าไม้ และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านเป็นระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัด

มุกดาหารเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310 สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้ากินรี บุตรชายของเจ้าจันทรสุริยวงศ์ ผู้ปกครองบ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขต ประเทศ สปป. ลาวในปัจจุบัน ได้ข้ามลำน้ำโขงมาสร้างเมืองขึ้นที่บริเวณปากห้วยมุก แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “มุกดาหาร” ต่อมาในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้ากินรีเป็น “พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นคนแรกของเมืองมุกดาหาร

ต่อมาเมืองมุกดาหารมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของมณฑลอุดร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2450 มีการปรับเปลี่ยนระบบการปกครอง มณฑลอุดรถูกเปลี่ยนเป็น “จังหวัดอุดร” เมืองมุกดาหารก็ถูกผนวกเข้าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม ชื่อว่า “อำเภอเมืองมุกดาหาร” จนถึงปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น