แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี ศรีสะเกษยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ พืชพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิด อันเป็นทั้งสิ่งที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและไม่ควรมองข้าม จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ประมาณ 8,840 ตารางกิโลเมตร หรือ 5.52 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของประเทศ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนลาด ทางตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ทางตอนใต้มีทิวเขาพนมดงรักทอดตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มียอดเขาสูงสุด คือ พนมโนนอาว อยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ มีความสูง 671 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ศรีสะเกษเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในอดีตเคยเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากนานนับพันปี ตั้งแต่ในยุคขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ จากหลายเชื้อชาติอพยพมาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งพวกส่วย ลาว เขมร และเยอ ในปี พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เป็นตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน ในปัจจุบัน ขึ้นเป็น “เมืองนครลำดวน” ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ริมหนองแตระ และมีชื่อใหม่ว่า "เมืองขุขันธ์" หรือ "เมืองคูขัณฑ์" โดยมี “หลวงแก้วสุวรรณ” ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดี” เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองขุขันธ์ แล้วตั้งเป็นเมืองใหม่เรียกว่า “เมืองศรีสะเกศ” จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองศรีสะเกศและเมืองเดชอุดมเข้าเป็นเมืองเดียวกับเมืองขุขันธ์ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน ต่อมาใน พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เมืองขุขันธ์จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดขุขันธ์" ซึ่งเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “จังหวัดศรีสะเกษ” เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่งพุทธศักราช 2481 ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอพยุห์ กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ และกิ่งอำเภอศิลาลาด |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น