วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ยโสธร

เมืองบั้งไฟโก้แตงโมหวานหมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ
จังหวัดยโสธรเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำชี เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตภาคอีสานตอนล่าง มีชื่อเสียงในการทำบั้งไฟจนได้ชื่อว่า “เมืองบั้งไฟ” ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองเกษตรกรรม โดยเฉพาะเป็นแหล่งปลูกข้ามหอมมะลิที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

ยโสธรมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และด้วยบรรยากาศของเมืองที่มีความสงบเงียบและเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสานที่ความเจริญในด้านต่างๆ ยังมีไม่มากนัก ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้จึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวอีสานดั้งเดิม และวัฒนธรรมพื้นบ้านอันงดงามบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน
จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.6 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 54 ของประเทศ พื้นที่ทางตอนบนส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น ทางตอนใต้เป็นที่ราบต่ำสลับซับซ้อน มีแม่น้ำชีไหลผ่าน และมีหนองบึงกระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำชี ลำน้ำทวน ลำโพง และลำน้ำยัง

ยโสธรเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองขึ้นในราวปี พ.ศ. 2314 เมื่อพระเจ้าตาของเจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวและบริวารมาตั้งเมืองใหม่ ชื่อ “เมืองหนองบัวลุมภู” ต่อมาเมื่อสิ้นเจ้าพระวอ เจ้าคำผงผู้น้องและบริวารจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูลถึงห้วยแจระแม แล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ภายใต้ปกครองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองดังกล่าวนี้ว่า "เมืองอุบล" และเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล

หลังจากนั้นเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องของเจ้าคำผง พร้อมกับไพร่พลและญาติอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า ซึ่งมีเจ้าคำสูปกครองอยู่ และได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรือง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และพระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่า "พระสุนทรราชวงศา" เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร ส่วนชื่อเมือง "ยศสุนทร" นี้ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ยะโสธร" มีความหมายว่า "ทรงไว้ซึ่งยศ" และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น "ยโสธร" และใช้มาจนปัจจุบัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองยโสธรถูกรวมเข้าอยู่ในหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อมาได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรก็ถูกรวมเข้ากับเมืองอุบล จนกระทั่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 จึงได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็น “จังหวัดยโสธร” โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ของจังหวัดอุบลราชธานี ออกรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515

ปัจจุบันจังหวัดยโสธรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม อำเภอค้อวัง อำเภอทรายมูล และอำเภอไทยเจริญ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น