วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นนทบุรี


พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ
จังหวัดนนทบุรีตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตภาคกลาง ติดกับกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดปริมณฑลที่มีความเจริญในแทบทุกด้านเทียบเท่ากับกรุงเทพมหานคร และเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

แต่ในท่ามกลางความเจริญของสังคมเมืองในปัจจุบัน นนทบุรีกลับมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ งดงามไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบไทยดั้งเดิมและไทยผสมผสาน ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสมากมายอย่างคาดไม่ถึง

และด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง มีการคมนาคมสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้จังหวัดนนทบุรีในวันนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรมองข้าม
จังหวัดนนทบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 622.38 ตารางกิโลเมตร หรือ 388,939 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 74 ของประเทศ มีแม่น้ำไหลผ่านและแบ่งพื้นที่จังหวัดออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีคูคลองสาขาขนาดต่างๆ เชื่อมโยงถึงกันหลายสาย ทำให้เหมาะแก่การทำสวนผลไม้และทำการเกษตรอื่นๆ และฝั่งตะวันออก ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด อันเป็นเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และอาจถือเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

vจากสภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดนนทบุรี ทำให้มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีชุมชนอยู่หนาแน่น เช่น บ้านวัดชลอ บ้านวัดเขมา บ้านบางม่วง บ้านตลาดขวัญ และบ้านบางขนุน เป็นต้น

เมืองนนทบุรีนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานถึงกว่า 400 ปี เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองนนทบุรีตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรีเมื่อ พ.ศ. 2092 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และในปี พ.ศ. 2179 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ขุดคลองขึ้นใหม่ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของวัดท้ายเมือง ลัดไปทะลุยังวัดเขมา กลายเป็นเส้นทางไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ในปัจจุบัน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่าการที่แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น อาจทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงโปรดให้สร้างป้อมปราการไว้ ณ ปากแม่น้ำอ้อม และโปรดให้ย้ายศาลหลักเมืองและเมืองนนทบุรีมาอยู่ที่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนนทบุรีก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ติดกับพระนครหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้ย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อ บ้านตลาดขวัญ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตั้งศาลากลางเมืองขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองฝึกอบรมกระทรวงมหาดไทย อยู่บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 อำเภอเมืองฯ มีตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งแล้ว

ปัจจุบันศาลากลางจังหวัดนนทบุรีได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ และจังหวัดนนทบุรีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอไทรน้อย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น