และด้วยความที่เป็นเมืองสงบเงียบ เรียบง่าย เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตพื้นบ้าน ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวและมีเสน่ห์ ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หลากหลายไปด้วยอาหารการกินและสินค้านานาชนิด มีโรงแรมที่พักมากมาย และการคมนาคมสะดวกสบาย เมืองริมโขงแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวที่นักเดินทางไม่ควรพลาดมาเยี่ยมเยือน จังหวัดหนองคายมีเนื้อที่ประมาณ 7,332 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4.58 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ และมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงมากที่สุดเป็นระยะทาง 320 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เป็นคลื่นลอนชันและป่าธรรมชาติอยู่บ้าง และมีพื้นที่ราบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนทางทิศตะวันตกบริเวณเทือกเขาต่างๆ เป็นภูเขาสูงชัน จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เมืองหนองคายเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว จากชุมชนเมืองเล็กๆ 4 เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองพรานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค และเมืองไผ่ (บ้านบึงค่าย) ซึ่งปัจจุบันยังพบซากโบราณสถานของเมืองต่างๆ เหล่านี้ได้ตามวัดต่างๆ บนเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขงสายท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ตั้งตนเป็นกบฏ ไม่ยอมขึ้นกับไทย และได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเขตแดนไทยกลับไปเป็นเชลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชเทวียกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เจ้าเมืองยโสธร และพระยาเชียงสา เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำศึกปราบกบฏจนได้รับชัยชนะ และสามารถจับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ ต่อมาใน พ.ศ. 2370 รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานบำเหน็จให้ท้าวสุวอธรรมาสร้างเมืองขึ้นที่บ้านไผ่ เรียกชื่อว่า “เมืองหนองคาย” ตามชื่อของหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกของเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองหนองคาย ใน พ.ศ. 2434 เมืองหนองคายได้เป็นสถานที่ตั้งของมณฑลลาวพวน และใน พ.ศ. 2436 เมื่อไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส จึงได้มีการย้ายที่ทำการมณฑลไปตั้งที่บ้านหมากแข้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้จัดตั้งมณฑลอุดรขึ้นที่บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคายจึงมีฐานะเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลอุดร จนถึงปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองหนองคายจึงได้แยกตัวออกมาจากมณฑลอุดร และมีฐานะเป็น “จังหวัดหนองคาย” นับแต่นั้นมา ปัจจุบันจังหวัดหนองคายแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอบึงกาฬ อำเภอพรเจริญ อำเภอโพนพิสัย อำเภอโซ่พิสัย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม อำเภอเซกา อำเภอปากคาด อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล อำเภอบุ่งคล้า กิ่งอำเภอสระใคร กิ่งอำเภอเฝ้าไร่ กิ่งอำเภอรัตนวาปี และกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก |
วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
หนองคาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น