คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี ราชบุรีมีสถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ งานหัตถกรรมต่างๆ เช่น เครื่องปั้น เครื่องหล่อ เครื่องทอถัก เครื่องจักสาน และยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมทั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จึงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่งของภูมิภาค จังหวัดราชบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 5,196.462 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,247,789 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 43 ของประเทศไทย มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ พื้นที่ภูเขาสูง บริเวณชายแดนด้านตะวันตกติดกับสหภาพพม่า และด้านใต้ติดกับจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ราบสูงและที่เนินลอนลาด บริเวณถัดจากแนวเทือกเขามาทางด้านตะวันออก จนถึงตอนกลางของจังหวัด มีแม่น้ำภาชีและลำห้วยสาขาเป็นสายน้ำหลัก ที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และด้านตะวันออกของจังหวัด และที่ราบลุ่มต่ำ บริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลองที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรสงคราม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1-2 เมตร จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันเคยมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่มาตั้งแต่สมัยยุคหินกลาง คือเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในพุทธศตวรรษที่ 12–13 และบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองปรากฏหลักฐานการตั้งเมืองขึ้นจากชุมชนท่าเรือสินค้าจากต่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15–17 โดยมีพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหารเป็นประธานอยู่กลางเมือง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงยกกองทัพมารับศึกพม่าในเขตจังหวัดราชบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือสงครามเก้าทัพ ต่อมาปี พ.ศ. 2360 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้สร้างกำแพงเมืองใหม่และย้ายศูนย์บัญชาการเมืองไปที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองเพื่อรับศึกพม่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการทหารช่าง) ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาค และรวมเมืองราชบุรีเข้ากับหัวเมืองต่างๆ ใกล้เคียง คือ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ปราณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 เมือง ตั้งขึ้นเป็น “มณฑลราชบุรี” ตั้งศาลาว่าการมณฑลขึ้น ณ เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันคืออาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี) ต่อมาใน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่บัญชาการเมืองราชบุรีจากฝั่งซ้ายกลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับศาลาว่าการมณฑลราชบุรี กระทั่งถึง พ.ศ. 2476 มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิก และคงฐานะเป็นจังหวัดราชบุรีมาจนถึงปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอจอมบึง อำเภอสวนผึ้ง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่ง อำเภอบางแพ อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลง และอำเภอบ้านคา |
วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ราชบุรี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น