แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง น่าน ดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาด้านตะวันออกของภาคเหนือ อุดมด้วยธรรมชาติผืนป่า สายน้ำ ทะเลหมอก หล่อหลอมรวมกับวิถีวัฒนธรรมของผู้คนชาวไทยลื้อ ทำให้เสน่ห์ของน่านไม่ได้มีเพียงธรรมชาติอันพิสุทธิ์ แต่ยังมีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ที่แฝงด้วยแรงศรัทธาในพุทธศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมืองน่านเริ่มก่อร่างสร้างเมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในชื่อเมืองปัว สมัยต่อมาได้กลายมาเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา ต่อมาสมัยอยุธยา เมืองน่านทำศึกหนักกับพม่าและอยุธยาบ่อยครั้งจนพ่ายแพ้ ทำให้เมืองร้างผู้คนยาวนานหลายสิบปี จนเข้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเริ่มมีการสร้างบ้านบูรณะเมืองขึ้นมาใหม่ ช่วงยุคลัทธิพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย น่านกลายที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือ จนกลายเป็นพื้นที่สีชมพูที่เกิดการสู้รบปราบปรามอย่างรุนแรง ปัจจุบันเมืองน่านยังคงดำเนินวิถีชีวิตอย่างสงบสุขและเรียบง่าย ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยมีแม่น้ำน่านซึ่งนับว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมืองไหลหลั่งจากเทือกเขาหลวงพระบางและเทือกเขาผีปันน้ำ จนไปรวมกับแม่น้ำปิง วัง ยม เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดหลักของประเทศ |
ช่วงเวลาที่สามารถชมความงดงามของดอกชมพูภูคา ดอกไม้ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก ที่มักออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งทั้งต้น คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี
ฤดูกาลที่ดีที่สุดในการล่องแก่งในลำน้ำว้า คือช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวควรเตรียมความพร้อมในเรื่องสภาพร่างกาย ทักษะในการล่องแก่ง และอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนทำกิจกรรม
เมืองน่านมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม การเที่ยวชมวัดวาอารามและสถานที่สำคัญต่างๆ นักท่องเที่ยวควรแต่งกายสุภาพ ไม่ควรสวมกางเกงขาสั้นหรือเสื้อกล้าม เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่
ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่น่านก็มีเสน่ห์เรื่องอาหารการกินอยู่ไม่ใช่น้อย มีอาหารพื้นเมืองชาวเหนือให้ได้ลองชิมกัน โดยเฉพาะข้าวหลามสูตรเมืองน่าน ที่ไม่ใส่กะทิ มีทั้งข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวดำ บางสูตรใส่ถั่วดำ เผือก และสังขยาลงไปด้วย สามารถซื้อได้บริเวณตลาดในตัวเมืองและหน้าวัดภูมินทร์
เมืองน่านมีสินค้าหัตถกรรมขึ้นชื่อ ได้แก่ ผ้าทอมือที่มีสีสันสวยงามและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ซิ่นตีนจก ซิ่นก่าน โดยเฉพาะผ้าซิ่นลายน้ำไหล นับว่าเป็นสินค้าของฝากที่ล้ำค่ายิ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น