ตลาดบางพลี ตลาดน้ำโบราณที่มีอายุนับร้อยๆปี เคยคึกคักไปด้วยเรือพาย เรือแจว และเรือขนสินค้ามาแต่อดีต สุนทรภู่ กวีเอกของไทยก็เคยนั่งเรือผ่านมาแถวนี้ พร้อมเขียนเป็นบทกลอนไว้ใน นิราศเมืองแกลง อยู่ตอนหนึ่งว่า
ถึงบางพลี มีเรือ อารามพระ
ดูระกะ ดาษทาง ไปกลางทุ่ง
เป็นเลนลุ่ม ลึกเหลว เพียงเอวพุง
ต้องลากจูง จ้างควาย อยู่รายเรียง
ดูเรือแพ แออัด อยู่ยัดเยียด
เข้าเบียดเสียด แทรกกัน สนั่นเสียง
แจวตะกุด เกะกะ ปะกรรเชียง
บ้างทุ่มเถียง โดนดุน กันวุ่นวาย
บทกลอนที่เรียกว่านิราศนี้ สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้น หลังจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2367 (หรือ 186 ปี จนถึงปี 2553) ส่วนสุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2397 (หรือ 156 ปีจนถึงปี 2553 )
หากดูจากวันเวลาข้างต้น ก็น่าจะกล่าวได้ว่าตลาดน้ำบางพลีมีมานานแล้ว และมีอายุมากกว่า 140 ปี ตามที่ทางจังหวัดสมุทรปราการเคยประชาสัมพันธ์ไว้เมื่อปี 2549 ว่า “ ตลาดน้ำบางพลี 140 ปี “ เพราะแค่หลักฐานจากนิราศของสุนทรภู่ ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่า สมัยที่นั่งเรือผ่านมาที่บางพลี ตลาดน้ำบางพลี และวัดที่อยู่ใกล้ๆหรือวัดบางพลีใหญ่ ก็มีอยู่แล้ว
เรื่องเวลาคงไม่ไช่สาระสำคัญ เพราะจุดเริ่มต้นของตลาดน้ำบางพลีมีมาแต่เมื่อไหร่นั้น คงจะหาคำตอบที่แท้จริงกันได้ค่อนข้างยาก เพราะมันค่อยๆพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากชุมชนขนาดเล็กที่มีการติดต่อค้าขายกันทางเรือ ต่อมาก็ค่อยๆขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ
หรือว่าตลาดน้ำบางพลีมีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อคราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงย้ายราชธานีกรุงธนบุรีมาตั้งทางฝั่งพระนครด้วยเหตุผลทางด้านชัยภูมิ ทำให้ฝั่งพระนครมีการขยายตัวมากขึ้น มีการติดต่อไปมาหาสู่กับพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงพื้นที่ทางปากอ่าวไทย
หรืออาจเป็นไปได้ว่าชุมชนบางพลีนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะสมัยนั้นก็มีการเดินเรือสินค้าจากชาติต่างๆทั้งฝรั่งโปรตุเกส จีน ญี่ปุ่น มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว การเดินเรือสินค้าจากอ่าวไทยเพื่อมายังกรุงศรีอยุธยาก็ต้องผ่านปากอ่าวที่เป็นพื้นที่ของสมุทรปราการ แล้วเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ
บางพลีในสมัยก่อนก็คงเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ห่างจากปากอ่าวไม่มากนัก ทำมาหากินกับพื้นที่บนดินเลน เลี้ยงชีพด้วยการทำนา และอาชีพประมง ตามที่สุนทรภู่กล่าวถึงในบทประพันธ์
บางกระแสก็ว่าตลาดน้ำบางพลีในอดีตเริ่มจากมีการซื้อขายสินค้าจากพ่อค้าชาวจีนทางฝั่งตะวันออก ได้แก่จากจังหวัดชลบุรี ระยอง และ ตราด
ข้อสันนิษฐานเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่ความเป็นบางพลีโดยธรรมชาติของวิถีไทยในอดีตนั้นก็คงเริ่มจาก ชุมชน ก่อน และเป็นชุมชนของคนไทยที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เช่นเดียวกับคนไทยทางภาคกลางที่มักอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง การไปมาหาสู่หรือการติดค้าขาย ก็ใช้เรือพายเรือแจว จากที่เคยขายผัก ขายผลไม้ หรืออาหารทะเลจากท้องถิ่น ก็เริ่มมีการติดต่อค้าขายจากพ่อค้าชาวจีนต่างถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำสินค้าพวกอุปโภคบริโภคจากที่อื่นๆมาขาย แล้วค่อยๆกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ปัจจุบันคำว่า ตลาดน้ำ ที่อดีตเคยค้าขายกันทางเรือมีเพียงไม่กี่แห่ง ที่ขึ้นชื่อและเป็นตลาดน้ำที่แท้จริงได้แก่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีการพายเรือซื้อขายสินค้ากันเหมือนเช่นอดีต (ปัจจุบันน่าจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว) รัฐบาลสมัยนั้นก็นำภาพตลาดน้ำดำเนินสะดวกไปโปรโมท เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝรั่งก็แห่กันมาจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
ตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำลำพญา หรือตลาดน้ำบางพลี เดิมก็เคยเป็นตลาดน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตมาแล้วเช่นกัน จะว่าไปแล้วตลาดน้ำของไทยในสมัยก่อนนั้นมีอยู่ทุกหัวระแหง ทั้งในเขตทางภาคกลางที่มีแม่น้ำลำคลอง และจังหวัดตามชายฝั่งทะเล
เมื่อความเจริญเข้ามาถึงตลาดน้ำก็หายไป ดีที่ว่าบางแห่งยังรื้อฟื้นให้กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่มีบรรยากาศเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยๆก็ช่วยทำให้คนไทยในปัจจุบันพอจะเห็นภาพการใช้ชีวิตของคนไทยในอดีตได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น