วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สามชุก ตลาดร้อยปี

 มีคำกล่าวว่า “หากต้องการสัมผัสวิถีชีวิตแบบไทยแท้ ให้ลองไปนั่งชมความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำ” ด้วยบรรยากาศร่มรื่นจากร่มเงาทิวไม้ใหญ่ คู่กับทิวทัศน์รื่นรมย์จากบ้านที่ปลูกด้วยไม้เกือบทั้งหลังเรียงต่อกันยาวสุดสายตา ประดับฉากด้วยสะพานไม้ทอดข้ามลำน้ำเป็นระยะ เมื่อบวกรวมกับมิตรภาพและรอยยิ้มของผู้คน วิถีไทยสองฝั่งน้ำจึงมีเสน่ห์ล้ำลึกที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลก
 นับแต่ครั้งอดีต แม่น้ำเปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการก่อร่างสร้างเมือง เป็นชัยภูมิที่มั่นอันจำเป็นสำหรับการป้องกันศัตรูผู้รุกราน เป็นเส้นทางคมนาคมอันสะดวกสบาย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานรกราก เกื้อหนุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเกือบทุกครัวเรือน
 มากกว่านั้น แม่น้ำและลำคลอง ยังเป็นเส้นทางการค้าขายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เริ่มต้นจากการพบปะแลกเปลี่ยนของกินของใช้ของชาวบ้าน ล่วงเลยผ่านกาลเวลามาจนถึงยุคกลางของกรุงรัตนโกสินทร์ การค้าทางน้ำเริ่มมีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นชุมชนศูนย์รวมของการค้าขาย ก่อเกิดเป็น ‘ตลาด’ ที่ถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมโดดเด่นที่สุดแบบหนึ่งของไทย
 ทุกวันนี้ ตลาดน้ำในเมืองไทยมีมากมายนับร้อยแห่ง กระจายตัวอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคกลางอันเป็นที่ลุ่ม แต่ละแห่งมีบุคลิกเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามวิถีชุมชนที่ก่อตัวขึ้น แต่ที่ส่วนใหญ่มีเหมือนกันคือ มิตรภาพ และความเป็นกันเอง อันเป็นมนต์เสน่ห์แบบไทยๆ ที่จับใจผู้มาเยือนได้ไม่ยาก
 ตลาดน้ำแห่งแรกที่เปิดตัวสู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ คือ ตลาดน้ำดำเนินสะดวกในคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ตลาดน้ำที่นี่เริ่มมีมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ จากเดิมที่มีแต่ผู้คนในละแวกนั้นออกมาจับจ่ายใช้สอย เมื่อถูกกล่าวขานกันปากต่อปาก ไม่นานจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน
  หากมาเยือนตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตลาดน้ำคลองลัดพลี” นอกจากจะได้จับจ่ายซื้อของกินของใช้ที่มีให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังได้ชมบรรยากาศสองฝั่งคลองของชาวไทยชนบท สีเขียวชอุ่มของเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ไม่เพียงจะช่วยหย่อนอารมณ์ให้ผ่อนคลายเท่านั้น หากยังสะกิดให้เราไม่ลืมคิดถึงรากเหง้าของคนไทยที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
     คลองดำเนินสะดวกขุดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการคมนาคมในท้องถิ่นนี้ไม่มีถนนหนทางเชื่อมกับอำเภออื่น ๆ ส่วนมากใช้เรือเดินทาง จึงให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้อำนวยการขุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ โดยขุดคลองกว้าง ๖ วา ลึก ๖ ศอก ยาว ๘๔๐ เส้น โดยใช้แรงคนทั้งหมด ใช้เงินทั้งสิ้น ๑,๔๐๐ ชั่ง หรือ ๑๑๒,๐๐๐ บาท เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองเข้าไว้ เริ่มตั้งแต่ประตูน้ำบางยาง แม่น้ำท่าจีน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก แม่น้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น ๒ ปี คลองดำเนินสะดวกความยาว ๓๒ กิโลเมตร ทำให้ประชาชนในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ติดต่อถึงกันโดยสะดวกขึ้น
     หลังจากเกิดตลาดน้ำปากคลองลัดราชบุรี หรือปากคลองลัดพลีแล้ว  ตลาดน้ำในคลองดำเนินสะดวกก็ได้เกิดตามมาอีกหลายแห่งควบคู่ไปกับการเกิดชุมชนใหม่ที่เป็นผลมาจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมากขึ้นตามลำดับ
 ตลาดริมน้ำที่สำคัญอีกแห่ง และมักถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือตลาดสามชุก ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากชุมชนชาวจีนที่ยังคงความเก่าแก่ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของไทย หากเดินชมภายในตลาด จะพบบรรยากาศแบบโบราณประหนึ่งภาพถ่ายขาวดำในหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
  ตลาดสามชุก หรือตลาดร้อยปี โดดเด่นด้วยอาคารไม้เก่าแก่ที่ก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำท่าจีน บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง ซึ่งเท่าที่พบในตลาดนี้มีถึง ๑๙ ลาย คือ ศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณ ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าตลาดสามชุกจะถูกรื้อทิ้ง แต่มีเสียงต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้าน ซึ่งมองว่าหากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็อาจจะสูญหายไปเช่นเดียวกับตลาดโบราณอื่นๆ
  วิถีชีวิต บรรยากาศการค้าขาย และอัธยาศัยน้ำใจไมตรีของแม่ค้าภายในตลาด ยังคงถูกรักษาแบบดั้งเดิมเช่นในอดีต ข้าวของเครื่องใช้ ขนมอาหารที่นำมาตั้งขาย ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่จำลองมาเพื่อให้ผู้ชมได้ดูชั่วครั้งชั่วคราว แต่เหล่านี้คือวัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากอดีต บ่มเพาะมาเป็นเวลามากกว่า ๑๐๐ ปี
  นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะสามารถสัมผัสได้ไม่รู้เบื่อ อิ่มตา อิ่มท้องอย่างไม่รู้ตัว และทำให้ตลาดสามชุก แห่งนี้ได้รับขนานนามว่า ‘ตลาด ๑๐๐ ปี พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’
 อีกหนึ่งตลาดน้ำที่มาแรงที่สุดในช่วงหลายปีหลัง หนีไม่พ้นตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าเป็นตลาดน้ำที่ทันสมัย และตรงใจกลุ่มนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวมากที่สุด เพราะระยะทางที่ไม่ไกลนัก และจัดขึ้นในช่วงเย็นจนถึงพลบค่ำ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นตลาดน้ำแห่งแรกในไทยที่ ‘ติดตลาด’ ในช่วงเย็น ตลาดอัมพวา จึงมีอีกชื่อเรียกติดปากว่า ‘ตลาดน้ำยามเย็น’
 ตลาดอัมพวา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แต่เดิมเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ที่นี่มีความคึกคักและถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม แต่เมื่อถนนหนทางบนบกสะดวกยิ่งขึ้น ตลาดน้ำจึงถูกลดบทบาทความสำคัญลงไปเหมือนกับตลาดน้ำแห่งอื่น ๆ แต่ภายหลัง ชาวอัมพวาร่วมมือกันอนุรักษ์รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและปรับปรุงตลาดใหม่ พร้อมกับเร่งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศอย่างจริงจัง อัมพวาจึงกลับมาคึกคักจนถึงทุกวันนี้
 สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองในอัมพวา นอกจากจะมีอาหารสารพัดให้เลือกชิมแล้ว ยังมีบรรยากาศห้องแถวเรือนไม้เก่าแก่ ให้ได้ย้อนอดีตกลับไปชื่นชมกันด้วย การอนุรักษ์อย่างเข้มข้นของชาวอัมพวานี้เอง ทำให้ได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
 ด้วยความที่เป็นตลาดนัดยามเย็น กิจกรรมยอดนิยมของผู้มาเยือนตลาดอัมพวา คือ การลงเรือตกกุ้ง สร้างความสนุกสนานครื้นเครงได้เป็นหมู่คณะ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นคู่ต้องกุมมือกันล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน ยิ่งในคืนเดือนมืดด้วยแล้ว ว่ากันว่า แสงระยิบวิบวับของเจ้าหิ่งห้อยบนต้นลำพูนั้น เห็นแจ่มชัดสวยงามโรแมนติกยิ่งนัก
 นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในบ้านเรายังมีตลาดน้ำให้เลือกเดินทางท่องชมอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่เกาะเกี่ยววัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตอันเก่าแก่ไว้อย่างเหนียวแน่น ความนิยมเที่ยวตลาดน้ำแบบโบราณที่เพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง อาจสะท้อนให้เห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าในเมืองที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกโหยหาความเรียบง่ายแบบไทย ๆ ต้องการแสวงหาความสุขสงบแบบสามัญที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจให้แข็งแรงขึ้น และปลดเปลื้องความเครียดออกไปได้
 ที่น่าสนใจคือ ตลาดน้ำเกือบทุกแห่งมักมีวัดตั้งเคียงคู่อยู่ด้วย ตามครรลองของชาวพุทธ หลังจากอิ่มตา อิ่มท้องแล้ว ควรแวะทำบุญกราบไหว้พระที่อยู่คู่ชุมชน ก่อนกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ เป็นการเติมเต็มความสุขอย่างครบถ้วนทุกด้าน
 แม้ว่าตลาดน้ำหลายแห่งจะมีการพัฒนาตามกาลเวลา จนอาจจะทำให้บรรยากาศบางอย่างผิดแผกไปจากเดิม แต่ก็เป็นการพัฒนาเพื่อการดำรงอยู่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ส่วนแก่นและรากจะคงอยู่สืบไป ตราบใดที่คนไทยด้วยกันช่วยกันอุดหนุน หวงแหน และอนุรักษ์ มรดกอันล้ำค่าเช่นนี้ไว้ดังเดิม
บรรยายภาพ
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี
ตลาดสามชุก หรือ ตลาด 100 ปี จ.สุพรรณบุรี
ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น