วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บางปู

สุขตาสุขใจกับฝูงนกนางนวลนับหมื่น
สีสันแห่งท้องฟ้าที่สถานตากอากาศบางปู
ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
สถานตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ริมทะเลและป่าชายเลน จากอดีตถึงปัจจุบัน
ยังเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมเป็นแหล่งดูนกใกล้เมืองที่สำคัญอีกแห่ง
ซึ่งมีนกน้ำหลายพันธุ์ เช่น นกตีนเทียน นกตะขาบทุ่ง นกแว่นตาขาว
สีเหลือง นกกะติ๊ดขี้หมู นกนางนวล ซึ่งเป็นนกที่สร้างชื่อเสียงให้กับ
บางปูเป็นอย่างมาก
นกนางนวลที่มีในอ่าวไทยมีอยู่ 2 ชนิด นกนางนวลใหญ่ – เมื่อบินเหนื่อยแล้ว
ชอบลงลอยตัวบนผิวน้ำทะเลและนกนางนวลแกลบ – มีในน่านน้ำไทย
ถึง 15 ชนิด พวกนี้จะไม่ชอบลงลอยบนผิวน้ำทะเล นกนางนวลที่มาอาศัย
อยู่ในสถานตากอากาศบางปูเป็นนกที่ทำรังวางไข่อยู่รอบ ๆ ทะเลสาปต่าง ๆ
ในทิเบตและมองโกเลีย ในฤดูร้อน (ตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย) พอลูกโต
แข็งแรงสามารถบินได้ในระยะไกลแล้ว ก็จะพากันบินลงมาหากิน
ตามชายทะเลในมหาสมุทรอินเดียจนถึงอ่าวไทย จะย้ายถิ่นถึงอ่าวไทย
ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน

นกนางนวลรุ่นหนุ่มสาวจะมีหัวสีขาว มีจุดสีน้ำตาลคล้ำบริเวณขนคลุมหู
พอถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์มันจะเปลี่ยนสีสัน สำหรับเลือกคู่ผสมพันธุ์
โดยเริ่มมีขนสีน้ำตาลดำที่หัว เมื่อได้คู่แล้วก็จะทยอยบินกลับไปวางไข่
บนที่ราบสูงใกล้ ๆ ทะเลสาปในประเทศทิเบตและมองโกเลียใหม่ มักจะเริ่ม
บินย้ายถิ่นกลับในราวเดือนเมษายนและพวกสุดท้ายจะกลับปลายเดือน
พฤษภาคม
นกนางนวลชอบโฉบคาบเศษอาหารและเศษปลาที่ชาวเรือทิ้งลอยไป
บนผิวน้ำ ทำให้ของเน่าเหม็นบนผิวน้ำทะเลหมดไป นางนวลจึงเป็นนก
ที่ทำให้วิวทิวทัศน์ตามชายทะเลดูสวยงามน่าท่องเที่ยวน่าชมยิ่งขึ้น

การเดินทาง มาชมฝูงนกนางนวลที่สถานตากอากาศบางปูจึงเป็น
กิจกรรมหนึ่งที่ทำผู้ที่ได้พบเห็นเบิกบานสำราญใจ ทำให้รู้ว่าฤดูฝนได้ผันผ่าน
ไป ฤดูหนาวกำลังจะมาเยือน ลมทะเลพัดเบา ๆ กับบรรยากาศยามเย็นจอดรถ
ชมทิวทัศน์ พระอาทิตย์อัสดง และฝูงนกนางนวลที่บินอวดโฉมกางปีกสวย
ให้เราได้ชมอย่างใกล้ชิดบนสะพานสุขตา
อิ่มตาแล้วต้องอิ่มท้องด้วย เดินเท้าเข้าไปภายในศาลาสุขใจ ซึ่งเปิดเป็น
ร้านอาหารโดยกรมพลาธิการทหารบกเลือกรายการอาหารทะเลสด ๆ เป็น
อาหารค่ำ
หากใครมีโอกาสมาในวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น. จะมีกิจกรรม
พิเศษเปิดฟลอร์ลีลาศ อิ่มเอมไปกับเสียงเพลงสุนทราภรณ์อันไพเราะ
ควบคู่กับอาหารรสชาติอร่อยในราคาปกติตามเมนูให้กับอาหารมื้อเย็นและ
คนรับประทานได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น คิดค่าดนตรีภายในฟลอร์ลีลาศเพียง
คนละ 50 บาทเท่านั้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองอำนวยการสถานพักผ่อน
กรมพลาธิการทหารบก โทร.0-2323-9911, 0-2323-1213

 

ประวัติสถานตากอากาศบางปู

พ.ศ. 2480
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ดำริให้สร้างเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื่องด้วยพื้นที่ติดชายทะเลและระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

พ.ศ. 2482
การดำเนินการก่อสร้างสะพานสุขตาเสร็จเรียบร้อยเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป สำนักงานทรัพย์สิน
ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยมีอธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธาน ในชื่อเรียก
"สถานตากอากาศชายทะเล บางปู"

พ.ศ.2484
หยุดดำเนินการ เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อใช้เป็นทางผ่านในการสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ู พ.ศ.2490 เมื่อเหตุการณ์สงบลงได้เปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล

พ.ศ. 2491
กรมพลาธิการทหารบก ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบตามลำดับ คือ กรมสวัสดิการทหารบก ,
กรมพลาธิการทหารบก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรมพลาธิการทหารบกและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

พ.ศ. 2501
กรมพลาธิการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เปิดบริการขายอาหารและเครื่องดื่ม ที่บริเวณปลายสะพานสุขตา
โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา06.00-20.00น. จัดดนตรีและลีลาศในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00
น.จัดบริการที่พักที่ปลายสะพานสุขตา ในราคา 60-110 บาท/วัน บ้านพักบริเวณริมแนวเขื่อน 80 บาท/วัน

พ.ศ. 2505
กองทัพบกได้จัดตั้งเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศ กองทัพบก โดยมีคณะกรรมการอำนวยการสถานพักฟื้น
และตากอากาศ กองทัพบกเป็นผู้กำกับดูแล โดยจัดแบ่งเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศบางปูกับสถานพักฟื้น
และตากอากาศหาดเจ้าสำราญ

พ.ศ. 2512
ได้ดำเนินกิจการสถานพักฟื้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดให้มีการรักษาพยาบาล
และฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ บำรุงขวัญ ให้แก่ทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งรับจาก รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ
ในชื่อเรียก" สถานพักฟื้นและพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก "

พ.ศ. 2533
เปิดอนุสรณ์สถานเครื่องหมายทางประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น
ยกพลขึ้นบก ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีพลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นประธานในพิธี

พ.ศ. 2535
จากการดำเนินการมาหลายปีทำให้สิ่งก่อสร้างบริเวณร้านอาหาร และห้องพักที่ปลายสะพานสุขตาชำรุด
ได้ปรับปรุงห้องพักด้านขวาเป็น " ห้องกาแฟนางนวล " และห้องบริเวณด้านซ้ายเป็นที่รับประทานอาหาร

พ.ศ. 2536
ร้านอาหารที่ปลายสะพานสุขตาถึงคราวต้องปิดตัวลง เนื่องจากความทรุดโทรมของฐานรากอาคารชำรุดมาก
ไม่ปลอดภัยกับผู้มาใช้บริการ

พ.ศ. 2537
ดำเนินการก่อสร้างร้านอาหารชั่วคราว บริเวณริมฝั่งด้านทิศตะวันออก เพื่อบริการอาหารเครื่องดื่มจำนวน 8 หลัง
เสร็จสิ้นและเปิดบริการเมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม 2537

พ.ศ. 2540
เริ่มดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสะพานสุขตาและอาคารร้านอาหารปลายสะพานสุขตา

พ.ศ. 2542
เนื่องจากสถานการณ์ภายในบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป การสู้รบตามแนวชายแดนลดน้อยลง ทำให้สถานพักฟื้น
ไม่มีทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบมาฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกาย กองทัพบกจึงได้มีคำสั่งแก้อัตรากองทัพบก
โดยยุบสถานพักฟื้น คงเหลือไว้เพียงสถานพักผ่อน เปลี่ยนชื่อหน่วย จากกองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน
กรมพลาธิการทหารบก เป็น กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก มีภารกิจในกิจการของทหาร
พักผ่อนจากกองทัพภาคต่าง ๆ ปีละ 6 ผลัด สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

พ.ศ. 2543
การปรับปรุงซ่อมแซมสะพานและร้านอาหารปลายสะพานสุขตาได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย พร้อมเปิดให้บริการ
แก่ข้าราชการ ลูกจ้างสังกัดกองทัพบกตลอดจนประชาชนทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2543 เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
" ศาลาสุขใจ "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น